ประวัติย่อสภาคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทย
การประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยเกิดจากการริเริ่มของคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยที่มีความเห็นพ้องกันว่า การจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามีปัญหาร่วมกันหลายประการ ฉะนั้นควรจะมีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรึกษาหารือกันในเรื่องการจัดการการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา โดยได้มีการประชุมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปีแรก ๆ นั้นมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นผู้จัด และได้ดำเนินการประชุมต่อไปจนกระทั่งมีมหาวิทยาลัยเอกชนเข้าร่วมการประชุม จึงได้มีการสลับกันเป็นเจ้าภาพระหว่างสถาบันของรัฐและสถาบันเอกชน
ต่อมาในการประชุมสามัญคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ. 2538 ณ จังหวัดพิษณุโลก ที่ประชุมเห็นว่าได้มีการจัดประชุมโดยผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพเช่นนี้มานานแล้ว ควรจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารของที่ประชุม ตลอดจนนำมติของที่ประชุมไปดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป จึงได้ริเริ่มให้มีการตั้งสำนักงานของที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและที่เกี่ยวข้องไปสู่ความเป็นเลิศ
2. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบัน
3. เพื่อสร้างและกระชับความสามัคคีระหว่างสถาบันให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ในการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 1/2539 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ประชุมฯ ได้รับรองระเบียบที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยและระเบียบสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และเมื่อมีการประชุมสามัญคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยขึ้น สถาบันเจ้าภาพจะดำเนินการร่วมกับสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
ต่อมาในการประชุมสามัญครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยได้พิจารณาปรับปรุงองค์กรใหม่ให้มีความกระทัดรัดขึ้นโดยรวมองค์กรที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยและสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยเข้าเป็นองค์กรเดียวกันและเปลี่ยนชื่อเป็น “สภาคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (สคบท.)” โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายบริหารงานประจำสภาฯ มีการรับรองธรรมนูญสภาคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (สคบท.) พ.ศ. 2544 และมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ดังนี้
1. เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ
2. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและเป็นศูนย์กลางการประสานงานความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3. เพื่อให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ และรับฟังความคิดเห็นในการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. เพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างสถาบันให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ในการประชุมสามัญประจำปีสภาคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 เห็นว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งได้ออกนอกระบบทำให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของมหาวิทยาลัย มีผลกระทบต่อสถานภาพของบัณฑิตวิทยาลัยและมีหลายสถาบันที่ตำแหน่งผู้รับผิดชอบดูแลบัณฑิตวิทยาลัยมิใช่คณบดี ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารบัณฑิตศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สภาคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทย (สคบท.)”
ประธานสภาคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทย
1. รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก | มหาวิทยาลัยนเรศวร |
2. รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ปรีเปรม | มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
3. รองศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ชื่นแขก | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ |
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คนึงนิจ ภู่พัฒน์วิบูลย์ | มหาวิทยาลัยนเรศวร |
5. รองศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ วัฒเนสก์ | มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย๋ ดร.ธีร์ธนิกษ์ ศิริโวหาร | มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ |
7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวพร หวังพิพัฒน์วงศ์ | มหาวิทยาลัยกรุงเทพ |
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวิศ จิตรวิจารย์ | มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ |
9. รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย แสงอินทร์ | มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ | มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา |
11. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉัตรชัย เอกปัญญาสกุล | มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ |
12. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.ต. หญิง ดร.วรรณี ศุขสาตร | มหาวิทยาลัยรังสิต |
13. รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต โสภาแดง | มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
15. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ ชูพันธ์ อรรถพลพิพัฒน์ | มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี |